การประนีประนอมก่อนการดำเนินคดี

ครอบครัวเด็กที่หายไป เนื่องจากมีบุคคลอื่นพาไป ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ในเบื้องต้นทางครอบครัวเด็ก ควรสืบหาข้อมูลของผู้ที่พรากเด็กหรือผู้เยาว์นั้นไปเสียก่อน เพื่อประนีประนอมยอมความกันในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากการกระทำความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจรับเป็นคดีอาญาแล้ว จะไม่สามารถยอมความกันได้อีก ดังนั้น ควรจะมีการประนีประนอมยอมความกับผู้ที่พาเด็กหรือผู้เยาว์ไปเสียก่อน เพราะการพูดคุยเพื่อตกลงกันนั้น จะทำให้เรื่องต่างๆ คลี่คายลงได้ และเป็นการลดความเสี่ยงในอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กที่หายไปด้วย ทั้งนี้การประนีประนอมยอมความกันดังกล่าว สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยให้ได้ โดยทางครอบครัว ควรแจ้งความต้องการกับตำรวจว่าขอให้เป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าวให้ก่อน หากตกลงกันไม่ได้ถึงจะแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อไป

ความผิดอาญาฐานพรากเด็ก

ลักษณะความผิดและการดำเนินการ

เด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงสิบห้าปี ที่หายไปเนื่องจากถูกบุคคลอื่นพาไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล โดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นความผิดฐาน พรากเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

ในกรณีดังกล่าว ทางครอบครัวควรสืบหาข้อมูลของผู้ที่พรากเด็กไปในเบื้องต้นก่อน เพื่อยืนยันว่ามีการพรากเด็กไปจริง จากนั้นจึงไปดำเนินการแจ้งความอาญาในความผิดฐานพรากเด็ก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ซึ่งมิใช่การแจ้งความคนหายธรรมดา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลในรูปคดีในการออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำและเกิดกระบวนการติดตามในทางคดีที่มีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์

ลักษณะความผิดและการดำเนินการ

ผู้เยาว์อายุตั้งแต่สิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี ที่หายไปเนื่องจากถูกบุคคลอื่นพาไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแล ไม่ว่าผู้เยาว์นั้นจะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ก็ตามการกระทำเช่นนั้น ถือว่าเป็นความผิดฐาน พรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318-319

ในกรณีดังกล่าว ทางครอบครัวควรสืบหาข้อมูลของผู้ที่พรากผู้เยาว์ไปในเบื้องต้นก่อน เพื่อยืนยันว่ามีการพรากผู้เยาว์ไปจริง จากนั้นจึงไปดำเนินการแจ้งความอาญาในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา318-319 ซึ่งมิใช่การแจ้งความคนหายธรรมดา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลในรูปคดีในการออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำและเกิดกระบวนการติดตามในทางคดีที่มีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น

ข้อสังเกตในการแจ้งความเด็กหายในกรณีการกระทำความผิดฐานพรากเด็ก/พรากผู้เยาว์

1. ครอบครัวเด็กที่หายไปจะต้องหาข้อมูลของผู้ต้องสงสัยที่พรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปในเบื้องต้น เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงว่าได้มีการกระทำความผิดโดยการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปจริง
2. การแจ้งความที่สถานีตำรวจ มิใช่การแจ้งความเรื่องเด็กหายธรรมดา แต่การแจ้งความดังกล่าว ต้องระบุว่าประสงค์จะดำเนินคดีในฐานความผิดพรากเด็ก/ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 - 319 โดยต้องการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
3. ต้องนำบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับแจ้งความด้วยในฐานะพยาน ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่รู้เห็นพฤติกรรมซึ่งเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ
4.ควรสอบถามและติดตาม ผลของการดำเนินคดี โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกหมายเรียก ผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำ การเรียกสอบปากคำพยานเพิ่มเติม และการออกหมายจับผู้ต้องหา
5.เมื่อทางครอบครัวทราบข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม ต้องรีบแจ้งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทราบทันที เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน